toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiThe Political Significance of the UN Nuclear Ban Treaty - Thai

The Political Significance of the UN Nuclear Ban Treaty – Thai

-

ความสำคัญทางการเมืองของสนธิสัญญาห้ามนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ

มุมมองโดย Thomas Hajnoczi *

เวียนนา (IDN) – เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) จะกลายเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับรัฐภาคีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะนี้มีจำนวน 51 ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สนธิสัญญาดังกล่าวยังมีผลกระทบต่อรัฐที่ไม่ได้ประสงค์จะเข้าร่วมด้วยเช่นกัน

รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้รณรงค์ต่อต้านสนธิสัญญาดังกล่าว  ซึ่งนี่เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ TPNW ด้วยตัวพวกเขาเอง แม้แท้จริงแล้วพวกเขาจะสามารถเพิกเฉยต่อสนธิสัญญาดังกล่าวแทนที่จะกดดันไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามและให้สัตยาบันเข้าร่วม

TPNW จึงได้เปิดเผยอย่างชัดเจนว่ารัฐเหล่านั้นขาดความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามมาตรา VI ของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ นับตั้งแต่สนธิสัญญาที่เพิ่งกล่าวถึงนี้มีผลใช้บังคับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไม่เพียงแต่ไม่ได้ปลดอาวุธ แต่พวกเขาไม่ได้ทำแม้แต่การเริ่มวางแผนอย่างละเอียดว่าจะปลดอาวุธอย่างไรเลยด้วยซ้ำ

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขากลับลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงคลังอาวุธให้ทันสมัย พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และลดขีดแบ่งในการใช้งาน

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่มีการบันทึกว่าสหรัฐฯ ได้ประกาศกับสหประชาชาติว่าตนประสงค์ที่จะสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และโลกดังกล่าวต้องมีบรรทัดฐานแห่งการห้ามอาวุธที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ดังนั้น แนวคิดของ TPNW จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องถกเถียงกัน เพราะแท้จริงแล้วรัฐส่วนใหญ่ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้โดยไม่ได้รอให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์เห็นด้วย

รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจา แต่พวกเขาต้องการที่จะคว่ำบาตร บางรัฐถึงกับกดดันประเทศที่เลือกเข้าร่วมระบบปกป้องประเทศในฐานะผู้ไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ โดยกดดันไม่ให้ประเทศเหล่านั้นเข้าร่วมการเจรจา ในการทำเช่นนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ารัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้ละเมิดมาตรา VI ของสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธที่กำหนดให้พวกเขา “ต้องปฏิบัติโดยสุจริตใจและเข้าร่วมการเจรจาสรุปที่นำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์”

รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไม่เห็นด้วยต่อการเจรจาดังกล่าว โดยยืนยันว่าบรรทัดฐานการห้ามอาวุธนั้นควรเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อแทบไม่เหลืออาวุธนิวเคลียร์แล้ว แต่การทำเช่นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประวัติศาสตร์ในการห้ามอาวุธทำลายล้างสูงประเภทอื่น ๆ หากแนวความคิดนี้เป็นแนวคิดหลัก การห้ามใช้อาวุธเคมีก็คงไม่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำลายล้างอาวุธดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น

หากไม่มีบรรทัดฐานการห้ามอาวุธเคมี การใช้อาวุธเหล่านี้โดยซีเรียและรัฐอื่น ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คงไม่นับเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ตัวอย่างนี้และตัวอย่างอื่น ๆ จำนวนมากเกี่ยวกับอาวุธธรรมดาเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการห้ามใช้อาวุธก่อนหน้าการทำลายล้าง

การรณรงค์ต่อต้าน TPNW มุ่งเน้นไปที่ข้อโต้แย้งที่ว่า TPNW ไม่ได้กำจัดหัวรบนิวเคลียร์แม้แต่หัวเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วคำวิจารณ์นี้ก็เป็นคำวิจารณ์ต่อรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์เองเนื่องจากไม่มีสนธิสัญญาและรัฐที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ที่จะสามารถทำลายอาวุธนิวเคลียร์แทนพวกเขาได้ ตราบใดที่พวกเขายังไม่ทำเช่นนั้น มนุษยชาติก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อไป

ด้วยเหตุนี้ TPNW จึงเป็นสนธิสัญญาห้ามอาวุธแบบมุ่งเน้นที่จะฝากให้รัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นผู้ออกแบบขั้นตอนโดยละเอียดในการทำลายล้างและการตรวจสอบตามกฎข้อบังคับในอนาคตเองหลังจากที่พวกเขาเข้าร่วมสนธิสัญญา TPNW และคำสั่งของการเจรจาที่ได้แจ้งออกมานั้นต่างได้รับการออกแบบมาเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด TPNW ได้สร้างพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้างขั้นตอนทางกฎหมายและขั้นตอนการปฏิบัติในอนาคต

สิ่งที่ TPNW เน้นย้ำก็คืออาวุธนิวเคลียร์นั้นมีความขัดแย้งในขั้นพื้นฐานกับค่านิยมทางมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ นับตั้งแต่การทิ้งระเบิดในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ผู้คนต่างได้ทำการโต้แย้งอย่างชอบธรรมว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเนื่องจากอาวุธเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานมากเกินไปและคร่าชีวิตพลเรือนเป็นจำนวนมาก ในที่สุด TPNW ก็ได้มอบความชัดเจนที่จำเป็นต่อโลกนี้ว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

แท้จริงแล้ว ผลกระทบด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงและความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ซึ่งเกิดจากอาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นแรงจูงใจหลักสำหรับกระบวนการที่นำไปสู่การเห็นชอบต่อ TPNW แม้แต่การปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในวงจำกัดก็สามารถส่งผลให้เกิดผลกระทบทั่วโลกได้ เช่น สิ่งที่เรียกว่า “ฤดูหนาวนิวเคลียร์”

มีการบันทึกเหตุการณ์จำนวนมากเกี่ยวกับความเข้าใจผิด ข้อผิดพลาด หรือความเสียหายทางเทคนิคที่เกือบทำให้เกิดการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ และในตอนนี้ก็ไม่มีความสามารถในการตอบสนองต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมใด ๆ และไม่มีใครสามารถออกแบบการตอบสนองเพื่อรับมือกับความหายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นจากอาวุธนิวเคลียร์ได้ เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าว สิ่งเดียวที่จะสามารถรับประกันได้ว่าภัยพิบัติดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นก็คือการห้ามอาวุธนิวเคลียร์และการกำจัดออกไปทั้งหมด

TPNW ได้ปฏิเสธความถูกต้องในการยับยั้งอิทธิพลโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์เมื่อผู้คนต่างตั้งข้อสงสัยต่อแนวคิดนี้บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ทั้งนี้แนวคิดในการยับยั้งดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกสองขั้วในช่วงเวลาแห่งสงครามเย็น ทว่า ในโลกที่มีหลายขั้วซึ่งเป็นโลกแห่งดิจิทัลที่ผู้คนอาจทำการแฮ็กระบบนิวเคลียร์ทางไซเบอร์หรืออาจใช้อาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงและอาวุธที่ไม่ใช่ขีปนาวุธเพื่อทำการโจมตีครั้งแรกโดยไร้การตอบโต้นั้น การยับยั้งอิทธิพลโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์จะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?

นอกจากนี้ หากแนวคิดเรื่องการยับยั้งอิทธิพลโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้รับความเชื่อถือ รัฐต่าง ๆ ก็จะพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์และอาจคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคนรวมทั้งประชากรของตนเองด้วย สำหรับประเด็นในการใช้การยับยั้งอิทธิพลด้วยอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นวิธียืนยันว่าผู้คนจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้น ประธานาธิบดีเรแกนได้กล่าวว่า: “เช่นนั้นแล้ว จะไม่ดีกว่าหรือหากพวกเรากำจัดอาวุธนิวเคลียร์ออกไปอย่างสิ้นเชิง?”

การห้ามอาวุธหมายความว่ารัฐจะต้องไม่สร้างกลยุทธ์ด้านความมั่นคงของตนโดยพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์ นี่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับรัฐที่ติดอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐที่เลือกที่จะพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์ของผู้อื่นเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตนเองเช่นกัน TPNW ได้เปิดโปงความขัดแย้งในจุดยืนของ “รัฐที่ได้รับการปกป้องในฐานะผู้ไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์” พวกเขาอ้างว่าตนมุ่งมั่นที่จะกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการให้มี “การปกป้อง” อยู่ต่อไป

สำหรับรัฐที่ได้รับการปกป้องในฐานะผู้ไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ส่วนใหญ่นั้น ประชากรส่วนใหญ่ต้องการเข้าร่วม TPNW และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนจุดยืนในการปลดอาวุธ ผลกระทบอีกประการหนึ่งของ TPNW ก็คือแนวโน้มในการยกเลิกการลงทุนจากบริษัทที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากกองทุนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมการดำเนินการนี้แล้ว ก็มีกองทุนเพื่อการลงทุนของธนาคารจำนวนมากขึ้นที่ทำเช่นเดียวกัน

TPNW นั้นเริ่มมีผลบังคับใช้พร้อม ๆ กับการแพร่ระบาดทั่วโลกซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลก ความมั่นคงระดับชาติ และความมั่นคงส่วนบุคคลที่อาวุธนิวเคลียร์เองก็ไม่สามารถต่อสู้ได้ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายหลักด้านความมั่นคงส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ก็ตาม ในทางตรงกันข้าม โครงการปรับปรุงความทันสมัยและการบำรุงรักษาระบบอาวุธนิวเคลียร์ทำให้รัฐต่าง ๆ สิ้นเปลืองเงินทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการกับความท้าทายหลักด้านความมั่นคง

และแนวคิดด้านความปลอดภัยที่กว้างขึ้นนี้ก็เป็นข้อตั้งหลักของ TPNW ด้วยเช่นกัน ความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของมนุษยธรรมนั้นหมายถึงสิ่งเดียวกัน ซึ่งก็คือความมั่นคงของผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ นั่นเอง หากประเทศของตนใช้อาวุธนิวเคลียร์ ประชาชนจะต้องทนทุกข์ทรมานอย่างย่ำแย่ และความอยู่รอดก็จะตกอยู่ในอันตราย กล่าวคือ ประการแรก พวกเขาจะประสบอันตรายหากรัฐที่ถูกโจมตีทำการต่อต้านด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และประการที่สอง ในฐานะมนุษยชาติโดยรวม พวกเขาจะได้รับผลกระทบด้านมนุษยธรรมทั่วโลกที่เกิดจากสงครามนิวเคลียร์ นี่ไม่ใช่ความมั่นคงอย่างแน่นอน

ผลกระทบทั่วโลกที่เกิดจากอาวุธนิวเคลียร์นั้นทำให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นประเด็นที่ทุกรัฐต่างมีส่วนได้ส่วนเสียและจำเป็นต้องมีส่วนร่วมเพราะทุกคนจะได้รับผลกระทบ TPNW เป็นสนธิสัญญาการลดอาวุธนิวเคลียร์ฉบับแรกที่สะท้อนถึงข้อเท็จจริงนี้โดยการปฏิบัติต่อทุกรัฐในระดับที่เท่าเทียมกัน

ในอีกแง่หนึ่ง TPNW ยังได้กำหนดมาตรฐานใหม่ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ด้วยเช่นกัน ภาคประชาสังคมได้มีบทบาทชี้ขาดในการเสนอ TPNW ผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ได้ส่งผลกระทบต่อการเจรจา องค์กร NGO และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมดเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เห็นได้จากการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับ ICAN (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ) เพื่อแสดงความรับรู้ต่อบทบาทดังกล่าว

แนวทางที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมนั้นได้รับการกำหนดขึ้นมาก่อนที่โลกนี้จะเกิดปัญหาไซเบอร์และปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันนี้มันก็เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเมื่อใช้กับทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคลและระเบิดลูกปราย และหลังจากมีการใช้ TPNW แนวทางดังกล่าวก็ได้ขยายไปสู่การลดอาวุธนิวเคลียร์ ปัญหาด้านความมั่นคงไม่ได้เป็นปัญหาของทหารและนักการทูตอีกต่อไป

ในที่สุด TPNW ก็ได้ทำสิ่งที่เหมาะสมในการชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานของฮิบะคุชะอย่างที่ใครก็ไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ฮิบะคุชะคือเหยื่อของการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในปี 1945 สนธิสัญญาดังกล่าวประกอบไปด้วยภาระหน้าที่ในการช่วยเหลือเหยื่อและการเยียวยาต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเกิดต่อชีวิตจริงเหล่านี้เป็นแรงจูงใจที่ดีในการเจรจา TPNW ประสบความสำเร็จในการให้ความสำคัญต่อชะตากรรมของบุคคล สนธิสัญญาการลดอาวุธในอนาคตก็จะต้องทำเช่นนี้ต่อไปเช่นกัน [IDN-InDepthNews – 20 มกราคม 2021]

* เอกอัครราชทูต (เกษียณ) ดร. Thomas Hajnoczi จบการศึกษาดุษฎีบัณฑิตสาขานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวียนนาในปี 1977 และเป็นผู้อำนวยการด้านการลดอาวุธ การควบคุมอาวุธ และการไม่แพร่ขยายอาวุธ ณ กระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์กับยุโรปของสหพันธรัฐออสเตรีย

แหล่งที่มาของภาพ: IIP.

Most Popular