toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiBehind North Korea's New Missile Launches in the Midst of Coronavirus Pandemic...

Behind North Korea’s New Missile Launches in the Midst of Coronavirus Pandemic – Thai

-

เบื้องหลังการทดสอบขีปนาวุธครั้งใหม่ของเกาหลีเหนือท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา

โดยซานโต ดี. บาเนอร์จี

นิวยอร์ก (IDN) – ขณะนี้ประชาคมนานาชาติทุ่มกำลังต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก การตอบสนองต่อการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือครั้งแรกในปีนี้จึงเป็นไปอย่างจำกัด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมลับในวันที่ 5 มีนาคม แต่ไม่สามารถตกลงข้อมติร่วมกัน

อย่างไรก็ดี อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส เอสโตเนีย และเบลเยียมระบุใน “แถลงการณ์ร่วม” ว่า “มีความกังวลอย่างยิ่งจากการทดสอบยิงขีปนาวุธของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี” (เกาหลีเหนือ) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม

ซึ่งอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นสองในห้าของประเทศที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแบบถาวร ขณะที่เยอรมนี เอสโตเนีย และเบลเยียมเป็นประเทศสมาชิกแบบไม่ถาวร

แถลงการณ์ดังกล่าวชี้ว่าเกาหลีเหนือดำเนินการทดสอบยิงขีปนาวุธแล้ว 14 ชุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 “เกาหลีเหนือยังคงดำเนินโครงการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธต่อไป ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเกี่ยวกับเกาหลีเหนือได้เน้นย้ำถึงความพยายามดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง”

ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแบบถาวรสองประเทศและแบบไม่ถาวรสามประเทศ ประณาม “การกระทำอันเป็นการยั่วยุดังกล่าว” ซึ่ง “บ่อนทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค รวมถึงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ทั้งยังชัดเจนว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อมติที่เป็นเอกฉันท์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ”

ประเทศสมาชิกเหล่านี้ยืนยันว่าจะ “ผลักดันให้เกาหลีเหนือเข้าร่วมในการเจรจาที่มีความหมายอย่างจริงใจต่อไป พร้อมกับสหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งใช้ขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อเลิกการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูงและเลิกโครงการทดสอบขีปนาวุธในลักษณะที่สมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และย้อนกลับไม่ได้ รวมถึงระงับการยั่วยุที่มากไปกว่านี้”

อีกทั้งเสริมว่า “ไม่มีทางอื่นที่จะบรรลุเป้าหมายความมั่นคงและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีอีกแล้ว การยั่วยุที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเสี่ยงต่อการบั่นทอนโอกาสการเจรจาที่ประสบความสำเร็จ”

ทั้งห้าประเทศกล่าวโดยขัดกับเบื้องหลังความล้มเหลวของคณะมนตรีความมั่นคงในการตกลงข้อมติร่วมกัน ซึ่งมีรายงานเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ว่า “สำคัญที่คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องรับรองการใช้ข้อมติอย่างเต็มรูปแบบ และยังใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อไป”

รัสเซียและจีนมีความกังวลว่าการคว่ำบาตรจะเป็นผลร้ายต่อประชาชนชาวเกาหลีเหนือ โดยระบุถึงความหวังว่าการผ่อนผันข้อจำกัดบางประการอาจช่วยให้การเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลเกาหลีเหนือเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งสองประเทศได้ยื่นข้อมติฉบับร่างในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งอาจยกเลิกการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับเกาหลีเหนือนับร้อยล้านดอลลาร์ มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวกำหนดขึ้นในปี 2559 และ 2560 เพื่อตัดเงินทุนสนับสนุนโครงการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรจากองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เนื่องจากโครงการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงให้การสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา

นายจาง จวิน ผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติบอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคมว่า “เนื้อหาของร่างข้อมติยังคงหาข้อสรุปไม่ได้และเรายินดีรับฟังความคิดเห็นของร่างข้อมตินี้ เราเชื่อว่านี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าพอใจมากขึ้น เพื่อให้สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีก้าวหน้าต่อไปได้”

แถลงการณ์ร่วมโดยอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส เอสโตเนีย และเบลเยียม เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติ “ปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าวเพื่อบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มงวด รวมถึงรายงานการดำเนินการซึ่งสอดคล้องกับข้อมติที่คณะมนตรีใช้”

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีประณามการทดสอบยิงขีปนาวุธระยะใกล้สองครั้ง “อย่างรุนแรง” ในการแสดงความคิดเห็นถึงรายงานการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออีกสองครั้งในวันที่ 21 มีนาคม “การทดสอบสองครั้งจากการยิงขีปนาวุธหลายครั้งในเดือนนี้… เกาหลีเหนือได้ฝ่าฝืนข้อผูกพันที่มีต่อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกครั้ง การดำเนินการทดสอบเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเกาหลีเหนือกำลังทำตนเป็นภัยต่อความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างไร้ความรับผิดชอบ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีกล่าว
รัฐบาลเยอรมนีเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยอมปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับการทดสอบขีปนาวุธเพิ่มเติม รวมถึงยอมรับข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาในการเดินหน้าเจรจาต่อไปหลังถูกเกาหลีเหนือปฏิเสธ

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่านับตั้งแต่การล้มเหลวของการประชุมสุดยอดครั้งที่สองระหว่างนายคิมและนายทรัมป์ เมื่อวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ ในพ.ศ. 2562 ที่ประเทศเวียดนาม เกาหลีเหนือก็กลับมาดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับขีปนาวุธและการใช้อาวุธต่อไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพ พวกเขาจำได้ว่านายคิมเริ่มต้นปีใหม่โดยให้คำปฏิญาณว่าจะสนับสนุนการยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ ในการเผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรและการกดดันจากสหรัฐอเมริกาที่ “เหมือนพวกอันธพาล”

นายคริสโตเฟอร์ ฟอร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ กล่าวซ้ำในแถลงการณ์สั้น ๆ เมื่อวันที่ 19 มีนาคมว่ารัฐบาลภายใต้นายทรัมป์ “พร้อม ยินดี และเตรียมตัวแล้ว” ที่จะเริ่มการเจรจาในระดับการทำงานกับเกาหลีเหนือ โดยมีเป้าหมายที่การดำเนินการตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ “เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

นายคิมได้ให้คำมั่นอย่างคลุมเครือในการเจรจาเมื่อ พ.ศ. 2561 ที่ประเทศสิงคโปร์ ว่าจะเดินหน้าดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีโดยสมบูรณ์ อีกทั้งผู้นำทั้งสองยังตกลงถึงการพัฒนาความสัมพันธ์เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน แต่การประชุมสองครั้งถัดมาของผู้นำทั้งสอง รวมถึงการประชุมในระดับที่ต่ำกว่าอื่น ๆ ไม่มีความคืบหน้าในการขยายความข้อตกลงเหล่านั้นมากเท่าที่ควร

อ้างอิงจากนายสตีเฟน นากี รองศาสตราจารย์อาวุโสที่ International Christian University การทดสอบยิงในเดือนมีนาคมเป็นไปเพื่อเปลี่ยนความมุ่งมั่นของรัฐบาลนายทรัมป์ที่มีต่อเกาหลีเหนือ ในความพยายามให้ได้มาซึ่งการลดมาตรการคว่ำบาตรและความช่วยเหลือที่เป็นไปได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“เมื่อคำนึงถึงความล้มเหลวของการทูตกับนายคิม ทั่วโลกที่ถูกการระบาดของโควิด-19 ดึงความสนใจไป และรัฐบาลนายทรัมป์ที่ไม่ได้พูดคุยถึงเกาหลีเหนือแม้แต่น้อย การทดสอบยิงขีปนาวุธของรัฐบาลเกาหลีเหนือจึงเป็นการส่งสัญญานถึงสหรัฐอเมริกาว่าเกาหลีเหนือยังคงเป็นกำลังก่อกวนที่ต้องจัดการ” Kyodo News อ้างอิงคำพูดของนายนากี

อันที่จริง ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการต่างประเทศอื่น ๆ ยังคาดว่าเกาหลีเหนือจะทดสอบยิงขีปนาวุธต่อไป เนื่องจากนายคิมอาจคิดว่านายทรัมป์ ซึ่งต้องการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง ไม่ต้องการถูกรัฐบาลเกาหลีเหนือลูบคมในการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลทางการทูตรายหนึ่งได้แสดงความกังขาว่านายคิมอาจยกระดับการยั่วยุต่อสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของเกาหลีเหนืออย่างเห็นได้ชัด [IDN-InDepthNews – 25 มีนาคม 2563]

ภาพ: นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่การประชุมสุดยอดในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561 แหล่งข้อมูล: @Scavino45 ของแดน สกาวิโน จูเนียร์ ผู้อำนวยการด้านสื่อสังคมออนไลน์ประจำทำเนียบขาวและผู้ช่วยประธานาธิบดี

Most Popular