toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiThe UK Defies Nuclear Treaties and Strengthens Atomic Arsenal - Thai

The UK Defies Nuclear Treaties and Strengthens Atomic Arsenal – Thai

-

สหราชอาณาจักรต่อต้านสนธิสัญญานิวเคลียร์และเสริมสร้างคลังแสงปรมาณู

โดย Jamshed Baruah

ภาพ: ขีปนาวุธ Trident ที่ปล่อยออกมาจากเรือดำน้ำขีปนาวุธที่จมอยู่ใต้น้ำ แหล่งที่มา: Wikimedia Commons.

เจนีวา (IDN) – ภายในสามเดือนหลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากหน่วยงานทั้งหมดในสหภาพยุโรปและจากประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปในวันที่ 31 มกราคม 2020 นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันก็ได้ตัดสินใจเพิ่มกำลังนิวเคลียร์ของประเทศขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์เป็น 260 คลังแสงเพื่อ “ยังคงเป็นพันธมิตรยุโรประดับชั้นนำภายใน NATO” นักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านการปลดอาวุธตลอดจนสมาชิกรัฐสภาโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าว

อันตรายที่เกิดจากอาวุธนิวเคลียร์นั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าหัวรบปรมาณูเพียงหัวเดียวก็สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้หลายพันคน อีกทั้งยังจะสร้างผลกระทบที่ยาวนานและทำลายล้างในด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อม อาวุธปรมาณูส่วนใหญ่มีอานุภาพมากกว่าระเบิดที่ฮิโรชิมาหลายเท่า

ตามการระบุจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) ในโลกนี้ รัฐที่ติดอาวุธมีหัวรบนิวเคลียร์รวมกันเกือบ 13,500 หัวโดยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นของรัสเซียและสหรัฐอเมริกา หัวรบประมาณ 9,500 หัวอยู่ในฝ่ายทหาร และส่วนที่เหลือรอการรื้อถอน

โครงการนิวเคลียร์ของสหราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า Trident ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของประเทศประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์ รายงาน ‘การทบทวนการป้องกันแบบบูรณาการ’ (Integrated Defense Review) จำนวน 111 หน้าซึ่งนำเสนอเมื่อวันที่ 16 มีนาคมระบุว่าสหราชอาณาจักรกำลังยกเลิกการจำกัดคลังแสงนิวเคลียร์ของตนตามที่ได้กำหนดขึ้นเอง และจะเพิ่มเป็น 260 หัว โดยไม่พิจารณาถึงขีดจำกัดก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 225 หัวและเป้าหมายการลดเหลือ 180 หัวภายในกลางปี ​​2020

ขณะนี้สหราชอาณาจักรกำลังมีส่วนร่วมในโครงการที่มีราคาแพงและยาวนานในการสร้างเรือดำน้ำที่สามารถใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้ โครงการดังกล่าวอยู่นอกชายฝั่งสกอตแลนด์แม้ว่าชาวสก็อตจะต่อต้านการใช้ระเบิดก็ตาม ในปี 2019 เพียงปีเดียว สหราชอาณาจักรก็ได้ใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ถึง 8.9 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ การตัดสินใจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกประกาศว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในการทำเช่นนั้น สหราชอาณาจักรกำลังเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องในการเพิ่มคลังอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

นอกจากนี้ การตัดสินใจครั้งนี้ยังขัดกับความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ในการปลดอาวุธตลอดจนข้อห้ามในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ในด้านการครอบครอง พัฒนา และผลิตอาวุธนิวเคลียร์

คุณ Beatrice Fihn ซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริหารของ ICAN ได้ระบุว่าแผนการของสหราชอาณาจักรที่จะเพิ่มคลังอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคนั้นช่าง “ขาดความรับผิดชอบ เป็นอันตราย” และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ “ในขณะที่คนอังกฤษกำลังดิ้นรนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ ความรุนแรงต่อผู้หญิง และการเหยียดสีผิว แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะส่งเสริมความไม่ปลอดภัยและภัยคุกคามในโลก นี่คือการแสดงออกถึงความเป็นชายที่ช่างเป็นพิษเสียเหลือเกิน”

คุณ Fihn เป็นหัวหน้าคณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ICAN) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2017 กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ของโลกกำลังก้าวไปสู่อนาคตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นโดยปราศจากอาวุธนิวเคลียร์โดยเข้าร่วมสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ แต่สหราชอาณาจักรกลับกำลังผลักดันให้มีการแข่งขันในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ นี่เป็นเรื่องที่อันตรายมาก”

ในขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนสมาชิกรัฐสภา และเมืองต่าง ๆ รวมถึงแมนเชสเตอร์และออกซฟอร์ดก็เรียกร้องให้สหราชอาณาจักรเข้าร่วม TPNW “นโยบายของสหราชอาณาจักรควรเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนและกฎหมายระหว่างประเทศ และควรปฏิเสธอาวุธนิวเคลียร์อย่างถาวร”

“การขยายขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ของสหราชอาณาจักรที่น่าตกใจนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีคำอธิบายว่าสิ่งนี้จะส่งผลประโยชน์ในระดับชาติหรือระดับโลกได้อย่างไร การดำเนินการของประเทศแสดงถึงความเพิกเฉยต่อความคิดเห็นภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีและรัฐบาลแรกของสกอตแลนด์ซึ่งมีความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนต่อ TPNW เมืองต่าง ๆ เช่น แมนเชสเตอร์ เอดินบะระ ออกซฟอร์ด ไบรท์ตันแอนด์โฮฟ นอริช และลีดส์ต่างก็ได้ลงนามเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของสนธิสัญญา และประชาชนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรก็คิดว่าสหราชอาณาจักรควรลงนามใน TPNW “

คุณ Ben Donaldson หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ขององค์กรพันธมิตร ICAN UNA-UK กล่าวว่า “การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความเป็นทหารและความโอหังที่แสนอันตราย รัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องลงทุนในมาตรการเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการระบาดใหญ่ ไม่ใช่การกระตุ้นการแข่งขันในด้านการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่แสนอันตรายนี้

แคมเปญการรณรงค์เพื่อการลดอาวุธนิวเคลียร์ (CND) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ICAN ได้ประณามการตัดสินใจของสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน องค์กรระดับรากหญ้านี้ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกที่สหประชาชาติ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ปี 2021

ในขณะเดียวกัน คุณ Oliver Meier จากสถาบันเพื่อการวิจัยสันติภาพและนโยบายความมั่นคงแห่งมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก (IFSH) ก็ได้เข้าร่วมการวิพากษ์วิจารณ์สหราชอาณาจักรในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์เป็นอย่างมาก การทำเช่นนี้ยังอาจทำให้สหราชอาณาจักรขัดแย้งกับทั้ง NATO และสหรัฐฯ

“สหราชอาณาจักรได้ให้คำมั่นที่จะลดจำนวนและบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์” คุณ Meier ให้ความเห็นกับ Deutsche Welle ผู้ประกาศข่าวระหว่างประเทศของเยอรมัน “นอกจากนี้ยังมีภาระหน้าที่ในการมุ่งมั่นเพื่อสร้างโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ แต่การตัดสินใจครั้งนี้คงทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ยาก” เขากล่าวเสริม

‘การทบทวนการป้องกันแบบบูรณาการ’ (Integrated Defense Review) เตือนว่าสหราชอาณาจักรอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้หากประเทศอื่นใช้ “อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” ในการต่อต้าน อาวุธดังกล่าวรวมถึง “เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจมีผลกระทบพอ ๆ กัน” กับอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์อื่น ๆ

ตามคำกล่าวของบุคคลภายในด้านการป้องกัน “เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่” ยังประกอบไปด้วยการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตแม้ว่ารายงานจะไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนก็ตาม อย่างไรก็ตาม คุณ Tom Plant ผู้อำนวยการกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ Royal United Services Institute กล่าวกับ CNBC ว่า: “ผมจะไม่ตีความว่าพวกเขาหมายถึงการโจมตีทางไซเบอร์ด้วย ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก”

เขาเสริมว่า “ผู้คนไม่ได้มีความเข้าใจอย่างเท่าเทียมกันเกี่ยวกับองค์ประกอบของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในหน่วยงานรัฐบาล — ภัยทางไซเบอร์ไม่ได้กำลังเกิดขึ้น แต่ว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นมาสักพักแล้ว” ทั้งนี้คุณ Plant เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในด้านภาษาก็มีความสำคัญ

ในมุมมองของเขา การใช้ภาษาในปัจจุบันได้บ่งชี้ให้เห็นว่าในอนาคตอาจมีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและพฤติกรรมในการทำงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยง “ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งที่แยกออกจากกัน” นี่เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ ยากที่จะคาดเดา และ “อย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้ที่ความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งผู้คนยังไม่รู้จักนี้อาจเป็นคู่แข่งกับ WMD ในด้านภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น” คุณ Plant กล่าว

การประกาศของสหราชอาณาจักรได้สร้างความกังวลไปทั่วโลกโดยมีหลักฐานจากคำแถลงว่าสหราชอาณาจักรสละความรับผิดชอบระดับโลกพร้อมมุ่งเน้นด้านอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มีนาคมโดยคุณ Gareth Evans ประธานเครือข่ายผู้นำเอเชียแปซิฟิกและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย

ในแถลงการณ์ดังกล่าว คุณ Evans ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินนโยบายของสหราชอาณาจักรนั้น “ละเมิดข้อผูกพันในสนธิสัญญาอย่างชัดเจนภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจะดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์ และการทำเช่นนี้จะทำลายโอกาสที่จะเกิดฉันทามติในการประชุมทบทวน NPT ที่จะจัดขึ้นเร็ว ๆ นี้”

นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็น “การละเมิดข้อผูกพันทางศีลธรรมอย่างชัดเจน เนื่องจากเรามีข้อผูกพันในการช่วยกำจัดอาวุธที่ไร้มนุษยธรรมที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหากใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามนิวเคลียร์ จะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้อย่างที่เราต่างทราบกันดี”

คุณ Evans กล่าวย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐที่ติดอาวุธนิวเคลียร์จะต้อง “รับรู้อีกครั้งถึงพลังของการประกาศของ Reagan/Gorbachev เมื่อปี 1985 ว่า ‘ไม่มีใครสามารถชนะสงครามนิวเคลียร์ได้ และจะต้องไม่มีการต่อสู้เช่นนั้น’ อีกทั้งต้องเริ่มดำเนินโครงการที่จริงจังในการลดความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ รวมถึงการลดการติดตั้งอาวุธ การลดการเตรียมพร้อมการใช้งาน มุ่งมั่นว่าจะไม่เป็นผู้ใช้รายแรก และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือการลดจำนวนอาวุธในคลังของตน”

ทั้งคุณ Evans และ Baroness Sue Miller ในสภาขุนนางแห่งสหราชอาณาจักรและประธานร่วมของรัฐสภาเพื่อการไม่แพร่กระจายและการลดอาวุธนิวเคลียร์ (PNND) ต่างเป็นผู้สนับสนุนการเรียกร้องเพื่อโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ [IDN-InDepthNews – 22 มีนาคม 2021]

ภาพ: ขีปนาวุธ Trident ที่ปล่อยออกมาจากเรือดำน้ำขีปนาวุธที่จมอยู่ใต้น้ำ แหล่งที่มา: Wikimedia Commons.

Most Popular