บทความโดย คัตสึฮิโระ อาซากิริ
โตเกียว/อัสตานา (ไอเอ็นพีเอส เจแปน (INPS Japan) – ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ปกคลุมด้วยความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ คาซัคสถานเร่งยกระดับความพยายามในการผลักดันด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ในวันที่ 27-28 สิงหาคม 2024 นี้ คาซัคสถานจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งสำคัญที่อัสตานา โดยร่วมมือกับสำนักงานองค์การสหประชาชาติเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (UNODA) การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูการทำงานของเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) ทั้งห้าเขตที่มีอยู่เดิม รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือและการปรึกษาหารือระหว่างเขตเหล่านี้
โครงการริเริ่มนี้สอดคล้องกับวาระการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะในส่วนของ แอคชัน 5 (Action 5) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) ผ่านการเพิ่มความร่วมมือระหว่างเขต กระตุ้นให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์เคารพสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการจัดตั้งเขตใหม่ เช่น ในตะวันออกกลาง ความพยายามนี้สะท้อนให้เห็นถึงแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องของประชาโลกในการลดภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ และส่งเสริมสันติภาพในระดับภูมิภาคและทั่วโลก
ความมุ่งมั่นที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ของคาซัคสถานในการปลดอาวุธนิวเคลียร์
วิสัยทัศน์ของคาซัคสถานในการสร้างโลกที่ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกอยู่ในบทบาทผู้นำของประเทศในความพยายามด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก วิสัยทัศน์นี้ไม่ใช่เพียงแค่ความปรารถนา แต่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์จริงของประเทศที่ต้องเผชิญกับผลกระทบอันร้ายแรงของอาวุธนิวเคลียร์ สถานที่ทดสอบนิวเคลียร์เซมิปาลาตินสค์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาซัคสถาน หรือที่มักจะเรียกกันในชื่อ “เดอะ โพลีกอน (The Polygon)” เคยเป็นสถานที่ทดสอบนิวเคลียร์จำนวน 456 ครั้งโดยสหภาพโซเวียตระหว่างปี 2492 ถึง 2532 การทดสอบเหล่านี้ทำให้ผู้คนกว่า 1.5 ล้านคนต้องได้รับรังสี ส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งและความพิการแต่กำเนิด รวมถึงการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
คาซัคสถานยังได้แสดงถึงความทุ่มเทในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยได้ริเริ่มให้วันที่ 29 สิงหาคมเป็นวันต่อต้านการทดสอบนิวเคลียร์สากล ซึ่งวันที่ดังกล่าวได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ วันนี้มีความสำคัญในการระลึกถึงการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกของโซเวียตที่เซมิปาลาตินสค์ในปี 2492 และยังเป็นการระลึกถึงการปิดสถานที่ทดสอบนี้ในปี 2534
บทบาทของเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) ต่อความมั่นคงระดับโลก
เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างการป้องกันการแพร่ขยายและการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ปัจจุบันมีเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) ที่จัดตั้งขึ้นแล้วทั้งหมดห้าแห่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นผ่านสนธิสัญญาต่าง ๆ ได้แก่ สนธิสัญญาทลาเตโลลโก (ละตินอเมริกาและแคริบเบียน), สนธิสัญญาราโรตองกา (แปซิฟิกใต้), สนธิสัญญากรุงเทพ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้), สนธิสัญญาเปลินดาบา (แอฟริกา) และสนธิสัญญาเซเมย์ (เอเชียกลาง) นอกจากนี้ สถานะพิเศษของมองโกเลียในฐานะรัฐปลอดอาวุธนิวเคลียร์ที่ประกาศด้วยตนเอง ซึ่งได้รับการยอมรับผ่านมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ยังเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นในระดับชาติในการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
เขตเหล่านี้ห้ามมิให้มีอาวุธนิวเคลียร์ภายในอาณาเขตของตน และได้รับการเสริมความแข็งแกร่งด้วยระบบการตรวจสอบและควบคุมระดับนานาชาติ เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) ต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพในระดับภูมิภาค ลดความเสี่ยงของความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ และส่งเสริมการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก
การประชุมเชิงปฏิบัติการที่อัสตานา: การรวมตัวครั้งสำคัญเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์
การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จะจัดขึ้นที่อัสตานา เป็นโอกาสสำคัญสำหรับรัฐภาคีของสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) ทั้งห้าแห่ง พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ที่จะเข้าร่วมในการหารือสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาที่เขตเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่ การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคที่ความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงระดับชาติ
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) ตามที่ระบุไว้ในวาระการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกในการปรึกษาหารือระหว่างเขตต่าง ๆ และสนับสนุนให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ปฏิบัติตามระเบียบการของสนธิสัญญาเหล่านี้ การประชุมครั้งนี้ต่อยอดมาจากการสัมมนาในปี 2562 หัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และมองโกเลีย” ที่จัดร่วมกันโดยสำนักงานองค์การสหประชาชาติเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (UNODA) และคาซัคสถานในกรุงนูร์-ซุลตัน (อัสตานา) ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอแนะสำคัญเพื่อฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ)
ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้หารือกันเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายของเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) โดยมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างผลประโยชน์ด้านความมั่นคงสำหรับประเทศสมาชิก และพัฒนากลไกการปรึกษาหารือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ยังครอบคลุมถึงความท้าทายที่เกิดจากความไม่เต็มใจของบางรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในการให้สัตยาบันระเบียบการที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) หลายฉบับ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นภาคีในสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) แต่ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันระเบียบการที่ครอบคลุมเขตแปซิฟิกใต้ (สนธิสัญญาราโรตองกา), แอฟริกา (สนธิสัญญาเปลินดาบา) และเอเชียกลาง ความไม่เต็มใจนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำให้เขตเหล่านี้สามารถสร้างผลประโยชน์ด้านความมั่นคงได้อย่างเต็มที่
ความเป็นผู้นำของคาซัคสถานในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW)
บทบาทของคาซัคสถานในด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (NWFZ) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็นผู้นำในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) อีกด้วย ในเดือนมีนาคม 2568 คาซัคสถานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 3 ของรัฐภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำสถานะของคาซัคสถานในฐานะผู้นำในการปลดอาวุธนิวเคลียร์
คาซัคสถานเป็นผู้สนับสนุนที่มีสิทธิ์มีเสียงรายหนึ่งของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ และได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการทดสอบนิวเคลียร์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเสียหายจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตราที่ 6 และ 7 ของสนธิสัญญา
แผนปฏิบัติการเวียนนาเป็นแผนที่พัฒนาขึ้นในระหว่างการประชุมของรัฐภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 1 (TPNW) (1 MSP) และยังได้วางแนวทางการดำเนินการตามบทบัญญัติเหล่านี้ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนทรัสต์ระหว่างประเทศ และการสนับสนุนให้รัฐที่ได้รับผลกระทบทำการประเมินผลกระทบจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์และการทดสอบ และพัฒนาแผนการดำเนินงานระดับชาติเพื่อการนำไปใช้งานต่อไป
ในการประชุมของรัฐภาคีครั้งที่ 2 (2MSP) ซึ่งคาซัคสถานและคิริบาสเป็นประธานร่วม มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไข คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเหยื่อ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้นำเสนอรายงานและได้มีการขยายอาณัติการทำงาน โดยมีเป้าหมายที่จะเสนอมาตรการจัดตั้งกองทุนทรัสต์ระหว่างประเทศในการประชุมของรัฐภาคีครั้งที่ 3 (3MSP) บทบาทความเป็นผู้นำของคาซัคสถานในด้านนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการจัดการกับผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาซัคสถานได้สัมผัสด้วยตัวเองจากการทดสอบนิวเคลียร์ที่เซมิปาลาตินสค์
บทบาทสำคัญของภาคประชาสังคม
ในระหว่างกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน สมาคมสร้างคุณค่านานาชาติ (SGI) จากญี่ปุ่น และศูนย์ความมั่นคงและนโยบายระหว่างประเทศ (CISP) จะจัดกิจกรรมพิเศษในค่ำวันที่ 28 กันยายน เพื่อฉายสารคดี “ฉันอยากมีชีวิตต่อ: เรื่องราวที่ไม่เคยบอกเล่าของโพลีกอน (I Want to Live On: The Untold Stories of the Polygon)” ที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของผู้รอดชีวิตจากการทดสอบนิวเคลียร์ที่เซมิปาลาตินสค์ สารคดีนี้ซึ่งผลิตโดยศูนย์ความมั่นคงและนโยบายระหว่างประเทศ (CISP) ด้วยการสนับสนุนของสมาคมสร้างคุณค่านานาชาติ (SGI) ได้รับการฉายเป็นครั้งแรกที่องค์การสหประชาชาติในระหว่างการประชุมของรัฐภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ครั้งที่ 2 ในปี 2566 กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่กว้างขึ้นระหว่างสมาคมสร้างคุณค่านานาชาติ (SGI) และคาซัคสถาน ซึ่งได้ร่วมกันจัดกิจกรรมหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบด้านมนุษยธรรมของอาวุธนิวเคลียร์ที่จัดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติ เวียนนา และอัสตานาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ งานอีกอย่างหนึ่งที่จัดขึ้นพร้อมกับการประชุมเชิงปฏิบัติการในอัสตานาคือ การรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ (ICAN) ซึ่งจะจัดการประชุมที่รวมตัวองค์กรภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหว รวมถึงฮิบะกุชะจากบางประเทศ การผสมผสานระหว่างความพยายามของรัฐบาลและภาคประชาสังคมในอัสตานาครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ในขณะที่นักการทูตและตัวแทนของรัฐหารือเกี่ยวกับนโยบายและความร่วมมือในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ กิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกันโดยภาคประชาสังคมจะช่วยขยายข้อความด้านมนุษยธรรมและเน้นย้ำถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนในการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
เมื่อความตึงเครียดในโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น การประชุมเชิงปฏิบัติการที่อัสตานาก็เป็นเสมือนสัญญาณแห่งความหวัง เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเดินทางสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ด้วยความร่วมมือ การสนทนา และความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อสันติภาพ ความฝันของโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์นั้นอยู่ใกล้เพียงเอื้อม คาซัคสถานซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ ยังคงเป็นผู้นำในความพยายามครั้งสำคัญนี้
ไอเอ็นพีเอส เจแปน
This article is brought to you by INPS Japan in partnership with Soka Gakkai International, in consultative status with UN ECOSOC.