toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiสหภาพยุโรปกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ข้อเสนอจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

สหภาพยุโรปกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ข้อเสนอจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

-

โดย ธาลิฟ ดีน

สหประชาชาติ (IPS) – การคุกคามจากรัสเซียที่แผ่ปกคลุมเหนือยูเครนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคำเตือนถึงการโจมตียูเครนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทําให้นักการเมืองบางส่วนในยุโรปเริ่มพิจารณาถึงการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ในสหภาพยุโรป

แต่โวลเคิร์ท โอห์ม ประธานร่วมของ สมาคมทนายความระหว่างประเทศต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ (IALANA)  ประเทศเยอรมนี กล่าวกับ IPS ว่าการเรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีอาวุธนิวเคลียร์นั้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

“ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ให้ความเห็นเชิงปรึกษาไว้ว่า แม้ในสถานการณ์การป้องกันตนเองที่มีความวิกฤตคับขัน รัฐก็ทำได้เพียงป้องกันตัวเองด้วยอาวุธที่ตรงตามเงื่อนไขของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น”

“ซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนั้น รังสีนิวเคลียร์มีอยู่ในอาวุธนิวเคลียร์ทุกชนิด ดังนั้นอาวุธนิวเคลียร์ที่ “สะอาด” จึงไม่มีอยู่จริง การอภิปรายและถ้อยแถลงของนักการเมืองหลายคนในสหภาพยุโรปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนีจึงเป็นการละเลยกฎหมายระหว่างประเทศในหลายระดับ” เขาระบุ

เมื่อเผชิญกับความเป็นไปได้ที่โดนัลด์ ทรัมป์จะหวนคืนสู่ทําเนียบขาว หัวหน้ากลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปกําลังเรียกร้องให้ชาวยุโรปเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามโดยปราศจากการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและจะต้องสร้างระบบป้องกันปรมาณูของตนเอง ตามรายงานของโพลิทิโคซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา

แมนเฟรด เวเบอร์ ผู้นําพรรคประชาชนยุโรป (EPP) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองขวากลางได้อธิบายว่า ทรัมป์และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เป็น “สองคนที่จะกําหนดแนวทาง” ของปี 2024

สหภาพยุโรป (EU) มีสมาชิก 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และสวีเดน

แต่ในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปมีเพียงฝรั่งเศสประเทศเดียวที่ยังเป็น 1 ใน 9 มหาอํานาจนิวเคลียร์ของโลก ร่วมกับสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ

จอห์น เบอร์โรส์ รองประธานสมาคมทนายความระหว่างประเทศต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์และนักวิเคราะห์อาวุโสในคณะกรรมการทนายความเกี่ยวกับนโยบายปรมาณูบอกกับ IPS ว่าการที่เมืองศูนย์กลางของสหภาพยุโรป (EU) หรือหน่วยงานในยุโรปบางแห่งเริ่มให้ความสนใจกับอาวุธนิวเคลียร์นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่รัสเซียละเมิดกฎหมายโดยการรุกรานยูเครน รวมถึงข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ซึ่งผิดต่อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่การที่ยุโรปต้องพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใด หากแต่เป็นการทําให้สงครามรัสเซียกับยูเครนสิ้นสุดลงโดยเร็ว ซึ่งในการประนีประนอมอาจเป็นฝ่ายยูเครนที่ต้องเจ็บปวด เขากล่าว

“การกระทำดังกล่าวจะเป็นการขจัดความเป็นไปได้ที่แท้จริงที่จะทำให้ความขัดแย้งนี้ทำไปสู่การเกิดสงครามนิวเคลียร์ และจะเปิดทางให้มีการกลับมาควบคุมอาวุธและการเจรจาการปลดอาวุธกับรัสเซียตามเดิม”

เขาชี้ให้เห็นว่า วิธีนี้เป็นแนวทางที่ดีการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์โดยสหภาพยุโรปหรือหน่วยงานยุโรปอื่น ซึ่งจะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) ดังที่แถลงการณ์ของ IALANA เยอรมนีชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมการแข่งขันในอาวุธนิวเคลียร์ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้เกิดการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคอื่น

“ความสนใจในอาวุธนิวเคลียร์ของยุโรปยังได้รับแรงกระตุ้นจากความกังวลที่มีต่อถ้อยแถลงของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและเป็นไปได้ว่าจะเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอนาคต ซึ่งบ่งบอกว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากนาโต ความกังวลนี้เป็นสิ่งที่เกินจริง”

รัฐบาลสหรัฐฯ ในภาพรวมมีความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งต่อนาโต ดังที่ปรากฏในข้อเท็จจริงที่ว่าสภาคองเกรสได้อนุมัติและประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามในกฎหมายที่กําหนดให้การถอนตัวออกจากนาโตต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสและอังกฤษมีไว้เพื่อป้องกันยุโรปผ่านนาโตหรือในทางกลับกัน เบอร์โรส์กล่าว

“แม้ว่าคลังแสงของสองประเทศจะไม่ได้ใหญ่และหลากหลายเท่ากับของสหรัฐฯ หรือรัสเซีย แต่ในการจะทำให้รัสเซียหรือประเทศอื่นๆ พิจารณาให้ดีก่อนที่จะรุกรานประเทศอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากนัก และสิ่งที่เป็นพื้นฐานยิ่งกว่านั้น ตามถ้อยแถลงของ IALANA เยอรมนี ระบุว่า การพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือยุโรป ไม่สอดคล้องกับโลกที่ปกครองด้วยกฎหมาย และการพึ่งพาที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นการเดินไปในทิศทางที่ผิด” เขากล่าว

“เราจำเป็นต้องมีนาโต แต่เราก็ยังต้องแข็งแกร่งพอที่จะสามารถป้องกันตัวเองได้โดยปราศจากนาโตหรือเมื่ออยู่ในยุคของทรัมป์” เวเบอร์กล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับโพลิทิโคในระหว่างการโดยสารรถไฟกลับไปเคียฟ

“ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งในสหรัฐฯ ยุโรปต้องยืนหยัดได้ด้วยตัวเองในแง่ของนโยบายต่างประเทศและสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างอิสระ” ผู้มีอิทธิพลฝ่ายอนุรักษ์นิยมของเยอรมันกล่าว

และนั่นนําไปสู่ข้อถกเถียงไม่รู้จบเกี่ยวกับการป้องกันนิวเคลียร์ของยุโรป ปัจจุบันนาโตพึ่งพาหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งมีการนําไปใช้กับฐานทัพอากาศ 6 แห่งในเบลเยียม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และตุรกี ตามรายงานของโพลิทิโค

“ยุโรปจำเป็นต้องสร้างการป้องปรามขึ้นมา เราต้องสามารถป้องปรามและป้องกันตัวเองได้” เขากล่าว “เราทุกคนรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย การใช้นิวเคลียร์จะเป็นทางเลือกที่ตัดสินชี้ขาดได้จริง”

นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ ปูตินยกระดับการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับนิวเคลียร์เป็นอย่างมากและบ่อยครั้ง รวมถึงการข่มขู่คุกคามโลกตะวันตกด้วยปรมาณู 

ภายในสหภาพยุโรป ประเทศเดียวที่จะสามารถมีบทบาทเหนือกว่าได้คือฝรั่งเศส ซึ่งครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 300 หัว 

ส่วนขุมพลังนิวเคลียร์อื่นของยุโรป แต่อยู่นอกสหภาพยุโรปคือสหราชอาณาจักร ซึ่งมีน้อยกว่า 260 หัว  “บางทีเพียงเพื่อให้ทางเลือกชัดเจนขึ้น ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่เราควรเปิดฉากหารือกันอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรของเรา หลังจากทำการ Brexit มานับสิบปี” เวเบอร์กล่าว

แจ็คเกอรีน คาบาสโซ ผู้อํานวยการบริหารมูลนิธิกฎหมายรัฐตะวันตกประจำเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนียบอกกับ IPS ว่าการที่สหพันธรัฐรัสเซียละเมิดกฎหมายด้วยการทำสงครามรุกรานยูเครนและการข่มขู่คุกคามด้วยนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องทำให้อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลเยอรมันและนักการเมืองหลายคนเรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

ตัวอย่างเช่น ย็อชคา ฟิชเชอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่มาจากจากพรรคกรีน ได้กล่าวกับแด ชปีเกลเมื่อปีที่แล้วว่า “ตราบใดที่ประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียยังคงคล้อยตามอุดมการณ์จักรวรรดินิยมของปูติน เราก็มีแต่ต้องยับยั้งรัสเซียซึ่งเป็นตัวการเรื่องนี้”

และเมื่อถูกถามว่าการยับยั้งนี้จะรวมถึงการที่เยอรมนีจะต้องครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองหรือไม่ เขากล่าวว่า “นั่นเป็นคําถามที่ยากที่สุดจริงๆ” ในสถานการณ์ที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย “ใช้การแบล็กเมล์ทางนิวเคลียร์ร่วมด้วย” เขากล่าวว่า “ถ้าถามว่าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีควรมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่กับสหภาพยุโรป ก็คือใช่ สหภาพยุโรปต้องมีการป้องปรามนิวเคลียร์ของตัวเอง”

ดังที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ของ IALANA เยอรมนี แผนดังกล่าวจะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการทําให้ภัยคุกคามนิวเคลียร์กลายเป็นเรื่องปกติและทําให้เกิดความชอบธรรมในการแพร่ขยายนิวเคลียร์ตามคำแนะนําของฟิชเชอร์และคนอื่นๆ คาบาสโซกล่าว

เธอชี้ให้เห็นว่า ในยุคที่รัฐผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดพากันยกระดับคุณภาพและในบางกรณีก็เพิ่มปริมาณของอาวุธนิวเคลียร์ การแข่งขันอาวุธหลายขั้วในรูปแบบใหม่กําลังดำเนินต่อไป และอันตรายจากสงครามระหว่างรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มจำนวนผู้มีอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีโลกถือเป็นอนาคตที่น่าหวั่นใจอย่างแท้จริง

เยอรมนีและสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ควรปฏิเสธข้อเสนอแนะใดๆ ในการซื้ออาวุธนิวเคลียร์และเป็นผู้นําในการปฏิเสธการพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์ ใช้วิธีการทางการทูตทุกวิถีทางเพื่อลดความตึงเครียดกับรัสเซียและทําให้สงครามยูเครนสิ้นสุดลง รวมถึงส่งเสริมการเจรจาระหว่างรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเริ่มกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ คาบาสโซประกาศ

ดร. เอ็ม. วี. รามานา ศาสตราจารย์และประธานไซมอนส์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะและกิจกรรมทั่วโลกด้านการปลดอาวุธและความมั่นคงของมนุษย์ทั่วโลกแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย แวนคูเวอร์ บอกกับ IPS ว่าประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปได้ลงนามในสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ (NPT) ในฐานะรัฐที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์  

ตามมาตรา 2 ของ NPT “รัฐที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์แต่ละรัฐในฝ่ายสนธิสัญญาตกลงที่จะไม่รับการถ่ายโอนอาวุธนิวเคลียร์หรืออุปกรณ์ระเบิดนิวเคลียร์อื่นใด หรือมีการควบคุมอาวุธหรืออุปกรณ์ระเบิดดังกล่าวทั้งทางตรงหรือทางอ้อม”

ในทํานองเดียวกัน รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป (เช่น ฝรั่งเศส) หรือที่ไม่อยู่ในสหภาพยุโรป (เช่น สหรัฐอเมริกา) มีหน้าที่ตามมาตรา 1 ของ NPT ในการ “ไม่ถ่ายโอนอาวุธหรืออุปกรณ์ระเบิดนิวเคลียร์อื่นใดให้กับผู้รับไม่ว่าผู้ใด หรือทำการควบคุมอาวุธหรืออุปกรณ์ระเบิดดังกล่าวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือกระตุ้นให้รัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อื่นใดทำการผลิตหรือครอบครองอาวุธหรืออุปกรณ์ระเบิดนิวเคลียร์อื่นๆ หรือทำการควบคุมอาวุธหรืออุปกรณ์ระเบิดดังกล่าว” เขากล่าว

แม้ว่าจะไม่มีการเจาะลึกรายละเอียดว่าใครอาจได้เป็นผู้ควบคุม “อาวุธนิวเคลียร์สําหรับสหภาพยุโรป” ตามข้อเสนอแนะนี้ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าคลังอาวุธดังกล่าวจะขัดแย้งกับจิตวิญญาณของ NPT และทำให้บรรทัดฐานการไม่แพร่ขยายและการปลดอาวุธที่อ่อนแออยู่แล้วยิ่งอ่อนแอลง

ดังที่ IALANA กล่าวว่า รัฐในสหภาพยุโรปควรอยู่ห่างจากแนวคิดนี้และทุ่มเทเพื่อสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ รามานาประกาศว่า

บทความนี้นำเสนอโดย IPS Noram ร่วมกับ INPS Japan และ Soka Gakkai International ในฐานะที่ปรึกษาร่วมกับ ECOSOC

INPS Japan/ IPS NORAM

Translation coordinated by Kevin Lin

Most Popular