toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiมรดกจากการทดสอบนิวเคลียร์ในแปซิฟิก: หมู่เกาะมาร์แชลล์

มรดกจากการทดสอบนิวเคลียร์ในแปซิฟิก: หมู่เกาะมาร์แชลล์

-

โดย แจ็ค นีเดนทัล

หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นหมู่เกาะปะการังที่เงียบสงบและห่างไกลในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่แห่งนี้ยังคงหลงเหลือมรดกที่น่าหวาดหวั่นจากการทดสอบนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1946 ถึง 1958 สหรัฐฯ ได้ทำการทดสอบนิวเคลียร์และเทอร์โมนิวเคลียร์จำนวน 67 ครั้งบนเกาะปะการังบิกีนีและเอนิวีทอก ซึ่งทิ้งผลกระทบหยั่งลึกและยาวนานต่อแผ่นดิน ผู้คน และลูกหลานในอนาคตของเรา การทดสอบที่มีชื่อเสียงที่สุดคือระเบิดไฮโดรเจนบราโว (BRAVO) ในปี 1954 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงผลกระทบร้ายแรงจากการทดสอบที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

บริบททางประวัติศาสตร์และผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1954 ประชาชนในหมู่เกาะมาร์แชลล์ตอนเหนือตื่นขึ้นมาพร้อมกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ลองจินตนาการว่าคุณอาศัยอยู่บนหมู่เกาะเขตร้อนเล็ก ๆ ที่เงียบสงบและห่างไกล และกำลังชื่นชมความงามของดวงอาทิตย์ที่ขึ้นทางทิศตะวันออกในยามเช้าดังเช่นทุกวัน… แต่จู่ ๆ ก็มีดวงอาทิตย์อีกดวงกำลังขึ้นทางทิศตะวันตกด้วย ระเบิดไฮโดรเจนบราโว (BRAVO) ปะทุขึ้นที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบิกีนี โดยมีอานุภาพรุนแรงกว่าลูกระเบิดอะตอมที่ถูกทิ้งลงฮิโรชิมะในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 1,000 เท่า แรงระเบิดได้ทำลายเกาะ 3 แห่งจนหายสิ้น ส่งเถ้าขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 100,000 ฟุต ก่อนที่เศษกัมมันตรังสีจะตกลงมาปกคลุมหมู่เกาะรอบข้าง เช่น รอนเกลัป อูโทรก และหมู่เกาะใกล้เคียงทางตอนเหนือ ผู้อาศัยบนเกาะที่ไม่ได้รับการเตือนจึงไม่ทราบถึงอันตรายและไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในขณะนั้น ชาวเกาะที่ไม่รู้ประสีประสาต่างมอง “หิมะ” ที่โปรยจากท้องฟ้าอย่างไม่เชื่อสายตา ซ้ำร้ายเด็ก ๆ ยังเล่นสนุกกับเถ้าถ่านที่เป็นอันตราย ส่งผลให้ทุกคนต้องประสบกับอาการป่วยจากรังสีในทันที เช่น แผลไหม้ คลื่นไส้ ผมร่วง และผิวหนังลอก

แม้จะทราบทิศทางของลมอย่างชัดเจน แต่สหรัฐฯ กลับไม่เตือนชาวเกาะมาร์แชลล์ แต่เลือกที่จะแจ้งบุคลากรของตนเองในพื้นที่ ซึ่งประจำการบนเรือและในบังเกอร์คอนกรีตเสริมเหล็ก ให้ไปหลบที่ชั้นล่างของเรือและหลีกเลี่ยงอันตราย จนกระทั่งหลายวันต่อมา ชาวเกาะรอนเกลัปและอูโทรกจึงได้รับการอพยพออกจากพื้นที่ในที่สุด ชาวเกาะจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาสุขภาพเรื้อรังตลอดชีวิต โดยเฉพาะมะเร็งต่อมไทรอยด์ อีกทั้งฝุ่นกัมมันตรังสียังแพร่กระจายไปไกลถึงเรือประมงญี่ปุ่นจนทำลูกเรือเสียชีวิตหนึ่งคน และคนอื่น ๆ ต้องเผชิญกับโรคจากรังสีเฉียบพลัน

การทำลายสิ่งแวดล้อม

การทดสอบนิวเคลียร์และเทอร์โมนิวเคลียร์ได้ทิ้งรอยแผลบาดลึกให้กับสิ่งแวดล้อมของหมู่เกาะมาร์แชลล์ เกาะบิกีนี่และบางส่วนของเกาะเอนิวีทอกยังคงปนเปื้อนกัมมันตรังสี และชุมชนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ไม่สามารถกลับไปอยู่อาศัยได้ บนเกาะเอนิวีทอก สหรัฐอฯ ได้พยายามทำความสะอาดครั้งใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยการฝังเศษซากที่มีรังสีสูงไว้ใต้โดมรูนิต (Runit Dome) ซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีตที่ปัจจุบันเสี่ยงต่อความเสียหายจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดมดังกล่าวบรรจุพลูโทเนียม-239 และสารพิษอื่น ๆ ซึ่งเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่คุกคามระบบนิเวศในแปซิฟิก

นายเดสมอนด์ ดูลาตรัม รองประธานภาควิชาศิลปศาสตร์ของวิทยาลัยหมู่เกาะมาร์แชลล์ เน้นย้ำถึงปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข “หลายคนในชุมชนของเรามองว่างานครบรอบ 70 ปีของการทดสอบบราโว (BRAVO) เมื่อปีที่แล้วเป็นเครื่องย้ำเตือนอันเจ็บปวดถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งคือการกู้คืนศักดิ์ศรีของเรา” เขากล่าว โดยสะท้อนถึงบาดแผลด้านสิ่งแวดล้อมและทางจิตใจที่ยังคงฝังลึกอยู่กับชาวมาร์แชลล์

ผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจ

การอพยพที่เกิดจากการทดสอบนิวเคลียร์ได้ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเกาะ การย้ายถิ่นฐานบีบบังคับทำให้ชุมชนของเราต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด และมักจะเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างจำกัด ความพยายามในการกลับคืนถิ่นฐานเดิม เช่น การกลับไปยังหมู่เกาะบิกีนีในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งได้รับการสนับสนุนผ่านหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ โดยนายลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 1968 ล้มเหลวเมื่อพบว่าห่วงโซ่อาหารในท้องถิ่นมีการปนเปื้อนซีเซียม-137 อย่างรุนแรง ชาวบิกีนีได้รับการอพยพอีกครั้งในปี 1979 และในครั้งนี้เป็นการอพยพถาวร

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ยังคงแสดงออกมาให้เห็นผ่านสังคมเกาะของเราอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่จำกัด บริการด้านสุขภาพที่ไม่เพียงพอ และการพึ่งพาสินค้านำเข้าทำให้ผู้ย้ายถิ่นฐานและลูกหลานของพวกเขาต้องเผชิญความท้าทายที่รุนแรงขึ้น

มาตรการที่ดำเนินการ: การตอบสนองของสหรัฐฯ และท้องถิ่น

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ดำเนินการเพื่อจัดการกับมรดกจากการทดสอบนิวเคลียร์ของตน แม้ว่าความพยายามเหล่านี้จะได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่เพียงพอ ภายใต้ข้อตกลงความสัมพันธ์เสรี (Compact of Free Association – COFA) ฉบับแรกในทศวรรษ 1980 ได้มีการจัดสรรเงินชดเชยจำนวน 150 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องที่ยังไม่ได้รับการชดเชยสำหรับความเสียหายต่อที่ดินและการบาดเจ็บส่วนบุคคลในปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ คณะอนุญาโตตุลาการเรียกร้องค่าเสียหายนิวเคลียร์ (Nuclear Claims Tribunal) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องเหล่านี้ ได้ใช้เงินทุนหมดไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เหยื่อไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ในศาลของสหรัฐฯ ได้

ผู้นำของเราทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อแสวงหาความยุติธรรม นายเดวิด อนิทอก สมาชิกวุฒิสภาจากเกาะไอลุกและผู้แทนด้านความยุติธรรมทางนิวเคลียร์และสิทธิมนุษยชน แสดงความรู้สึกผิดหวังแทนชาวมาร์แชลล์หลายคนว่า “เป็นเวลานานแล้วที่เราพยายามให้สหรัฐฯ ยอมรับในสิ่งที่ตนทำ… แต่พวกเขากลับไม่ยอมรับอย่างเต็มที่ถึงสิ่งที่เราต้องเสียสละเพื่อประชาชนของสหรัฐฯ และทั่วโลกเลย”

ข้อตกลงล่าสุดของสหรัฐฯ ภายใต้ COFA ฉบับที่ 3 ได้สร้างกองทุนทรัสต์มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สำหรับชาวมาร์แชลล์ใน 13 เกาะ เพื่อ

“การเบิกจ่ายสำหรับความต้องการพิเศษ” แต่ผู้วิจารณ์ชี้ให้เห็นว่าไม่มีคำว่า “นิวเคลียร์” ในข้อตกลงกองทุนทรัสต์ทั้ง 57 หน้าแต่อย่างใด นายเจสซี แกสเปอร์ จูเนียร์ สมาชิกวุฒิสภาจากเกาะบิกีนีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและกิจการภายใน ยืนยันว่าการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญ “สหรัฐฯ ต้องขอโทษ พวกเขาต้องยอมรับสิ่งที่ตนทำไว้ในหมู่เกาะมาร์แชลล์แห่งนี้จากสำนักงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ” เขากล่าว

ผลกระทบต่อสุขภาพและภาระของคนรุ่นหลัง

ผลกระทบด้านสุขภาพจากยุคทดสอบนิวเคลียร์ยังคงแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่อง มะเร็งต่อมไทรอยด์ ความพิการแต่กำเนิด และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรังสีได้สร้างปัญหาให้กับประชากรของเรา ตามรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2004 ระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งมากกว่า 530 รายมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการทดสอบนิวเคลียร์ โดยมีหลายกรณีที่ยังไม่ได้แสดงอาการ

นางอาเรียนา ทิบอน-คิลมะ ประธานคณะกรรมการนิวเคลียร์แห่งชาติ เป็นตัวแทนของรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้นำในวัยเพียง 28 ปี “ฉันรู้สึกมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการเล่าเรื่องราวมรดกจากนิวเคลียร์โดยรวมควรเปลี่ยนแปลง” เธอกล่าว โดยส่งเสริมการนำเสนอความจริงที่แม่นยำเกี่ยวกับการปนเปื้อนที่แพร่หลาย นอกจากนี้ เธอยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์มะเร็งวิทยาและแพทย์โรคหัวใจ “การจัดลำดับความสำคัญด้านการดูแลสุขภาพเป็นความยุติธรรมรูปแบบที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อประชากรทั้งหมดของเรา”

การสนับสนุนจากชุมชนและความยืดหยุ่น

ชุมชนมาร์แชลล์ได้แสดงถึงความยืดหยุ่นที่น่าทึ่งในการเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ การสนับสนุนความยุติธรรมด้านนิวเคลียร์ทำให้นานาชาติหันมาสนใจความทุกข์ทรมานของพวกเขา องค์การกรีนพีซ (Greenpeace) พร้อมด้วยบุคคลอื่น ๆ เช่น นางดาร์ลีน เคจู มีบทบาทสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงให้เหยื่อ อีกทั้งนักข่าวกิฟฟ์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นสามีของนางเคจู ยังเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มุ่งมั่นเกี่ยวกับมรดกจากนิวเคลียร์ โดยชี้ให้เห็นว่า “มรดกจากการทดสอบนิวเคลียร์ไม่ได้ยุติลงได้เองเมื่อถึงวันที่กำหนด”

การศึกษาเป็นรากฐานในการตอบสนองของชาวมาร์แชลล์ นางทิบอน-คิลมะ เชื่อว่าประชากรที่มีความรู้เป็นกุญแจสำคัญในการรับรองว่าความผิดพลาดในอดีตจะไม่เกิดขึ้นซ้ำ “ยิ่งเราได้รับการศึกษามากเท่าใด เราก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้นมากเท่านั้น” เธอกล่าว

เส้นทางข้างหน้า

Ariana-Tibon-Kilma,Image Credit:Jack Niedenthal 

เส้นทางสู่ความยุติธรรมและการเยียวยาสำหรับชาวมาร์แชลล์ยังยาวไกลและเต็มไปด้วยอุปสรรค การยอมรับความผิดพลาดในอดีต การชดเชยที่เพียงพอ และการลงทุนด้านการดูแลสุขภาพและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นขั้นตอนที่สำคัญ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม

สามารถปูทางให้ชุมชนบางส่วนของเรากลับมายังบ้านเกิดของบรรพบุรุษได้

เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องราวของชาวมาร์แชลล์ยังเป็นการเครื่องเตือนใจที่ทรงพลังถึงความต้องการในระดับโลกเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ การแบ่งปันประสบการณ์ของชาวมาร์แชลล์จะช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่กว้างขึ้นเพื่อโลกที่ปราศจากภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์

สรุป

มรดกจากการทดสอบนิวเคลียร์ของหมู่เกาะมาร์แชลล์ เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นทุนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของลัทธิทหารที่ขาดการควบคุม ขณะที่ประชาชนของเรายังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เรื่องราวของเราจะเตือนโลกถึงความสำคัญของความรับผิดชอบ ความยืดหยุ่น และจิตวิญญาณของมนุษย์ที่คงอยู่ตลอดไป นี่ไม่ใช่การเรียกร้องเพียงเพื่อให้จดจำ แต่ยังเรียกร้องให้ลงมือทำเพื่อรับประกันว่าความโหดร้ายเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก

Image Credit:Jack Niedenthal

ผู้เขียน: แจ็ค นีเดนทัล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงบริการสุขภาพของหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซึ่งอาศัยและทำงานที่หมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นเวลา 44 ปี เขาคือผู้เขียนเรื่อง “เพื่อความดีของมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวบิกีนี” และเป็นประธานบริษัท Microwave Films ซึ่งผลิตภาพยนตร์ในภาษามาร์แชลล์ที่ได้รับรางวัลหกเรื่อง ส่งข้อเสนอแนะได้ที่ jackniedenthal@gmail.com

บทความนี้สร้างสรรค์โดย London Post ร่วมกับ INPS Japan และ Soka Gakkai International ในฐานะที่ปรึกษาร่วมกับ UN ECOSOC.

Most Popular